Posted on

ประเทศไทย เลือกตั้ง 2566

ประเทศไทย เลือกตั้ง 2566

ครม.ประกาศยุบสภา ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 วันถัดมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ประกาศเคาะวันเลือกตั้ง เป็นวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 

สำหรับประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจต้องเริ่มเตรียมตัว โดยวันสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2566 ดังนี้

ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า และนอกราชอาณาจักร : 25 มี.ค. – 9 เม.ย. 66

การลงทะเบียนตั้งล่วงหน้า รวมถึงการลงทะเบียนตั้งนอกเขต ทำได้โดยการยื่นเรื่องที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ ช่องทางไปรษณีย์ หรือช่องทางออนไลน์

การลงทะเบียนเลือกตั้งจากต่างประเทศ สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ต่างประเทศ สามารถเลือกตั้งจากต่างประเทศ โดยการลงทะเบียนกับสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลประจำประเทศนั้น

ยื่นได้ตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. (ในวันและเวลาราชการ) ส่วนทางไปรษณีย์จะถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ

สำหรับช่องทางออนไลน์

ช่องทางออนไลน์สามารถลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติในวันที่ 9 เมษายน 2566 เวลาเที่ยงคืนตามเวลาประเทศไทย

รับสมัคร ส.ส.แบบเขต วันที่ 3-7 เม.ย. 66

รับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 3-7 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 8.30 – 16.30 น. ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด

รับสมัคร ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิส

วันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในนามพรรคการเมืองนั้นไว้ในบัญชี 3 รายชื่อ 4-7 เมษายน 2566 โดยวันที่ 4-6 เมษายน 2566 กำหนดเวลารับสมัคร ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ส่วนวันที่ 7 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 8.30-16.00 น. ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แขวงดินแดงเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 3 พ.ค. 66

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบสิทธิ และหน่วยเลือกตั้งผ่านเอกสารที่กกต.จัดส่งไปยังเจ้าบ้าน (จะส่งมาถึงบ้านก่อนวันเลือกตั้ง 20 วัน) หรือช่องทางออนไลน์ของกกต. หากพบว่าตนเองหรือคนอื่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตน ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยที่บุคคลนั้นมิได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจริงๆ สามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น เพื่อให้เพิ่ม-ถอนชื่อนั้นได้

วันเลือกตั้งล่วงหน้า และวันเลือกตั้งสำหรับผู้พิการ-ผู้สูงอายุ 7 พ.ค. 66

สำหรับคนพิการ หรือผู้สูงอายุ สามารถลงทะเบียนไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งกลางสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. และสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยให้ช่วยอำนวยความสะดวกได้ เช่น ขอบัตรทาบให้ผู้พิการทางสายตา โดยทั่วไปผู้พิการจะต้องออกเสียงด้วยตนเอง แต่หากลักษณะทางกายภาพไม่สามารถทำเครื่องหมายออกเสียงเลือกตั้งได้ สามารถให้บุคคลอื่น หรือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยทำเครื่องหมายแทนได้ ถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรง และลับตามกฎหมาย สำหรับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต และนอกเขตเลือกตั้ง สามารถลงทะเบียนไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งกลางในเขต หรือนอกเขตเลือกตั้งตามที่ได้ลงทะเบียนไ้ว้ ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น.

แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หน้า 7 หลัง 7 วันที่ 7-13 และ 15-21 พ.ค. 66

หากติดภารกิจไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ สามารถทำหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนที่ว่าการเขต หรืออำเภอ โดยสามารถไปด้วยตนเอง หรือ มอบหมายผู้อื่นไปแทน อีกทางเลือกคือ ส่งไปรษณีย์ หรือช่องทางออนไลน์ โดยต้องทำภายใน 7 วันก่อนการเลือกตั้ง หรือ 7 วันหลังการเลือกตั้ง จำง่ายๆ คือ “หน้า 7 หลัง 7”

ถ้าไม่แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งภายในระยะเวลาดังกล่าว แม้จะไม่เสียสิทธิในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่อาจเสียสิทธิบางประการเป็นระยะเวลาสองปี นับจากวันเลือกตั้งที่ไม่ได้ไป ได้แก่

๐ สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ๐ สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ๐ ลงสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ๐ ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ๐ ดำรงตำแหน่งเกี่ยวกับการบริหารท้องถิ่น

วันเลือกตั้ง : 14 พ.ค. 66 08.00-17.00 น

วันเลือกตั้งทั่วไป คือวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เข้าคูหาได้ตั้งแต่ 08.00-17.00 น.

หมายเหตุ :

อย่าลืมพกบัตรประชาชน เป็นบัตรที่หมดอายุแล้วก็ยังสามารถใช้ได้ หรือเป็นบัตร,เอกสาร ที่ราชการออกให้ ขอแค่มีรูป และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ก็ถือว่าใช้ได้ เช่น ใบขับขี่ ,พาสปอร์ต หรือ บัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (แอปพลิเคชัน ThaID)